วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เด็กไทยไม่รู้หลักภาษาไทย


เด็กไทยไม่รู้หลักภาษาไทย

บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตและครูภาษาไทย ต่างแสดงความห่วงใยที่เด็กไทยรุ่นใหม่ต่างมีปัญหาในด้านการอ่าน และการเขียนภาษาแม่ของตัวเอง ทำให้ไม่สามารถสะกดและออกเสียงภาษาไทยได้อย่างถูกวิธี ไม่ต้องพูดไกลไปถึงเรื่องการขาดการอบรมสั่งสอนให้รู้จักคิด-พูด-ฟังอย่างแตกฉานและอย่างมีสติ จึงมีการใช้คำศัพท์สแลง

คำผวน คำแปลกๆ ที่ไม่ถูกกาลเทศะ คำหยาบคาย หรือการนำภาษาต่างประเทศมาผสมกับภาษาไทยกลายเป็นคำแปลกที่ไม่มีความหมาย และผิดหลักเกณฑ์ แต่กลับคิดว่าเป็นคำที่ถูกต้อง ซึ่งทำให้การใช้ภาษาไทยมีแต่วิบัติและไม่ถูกต้องมากขึ้น ทำให้การสื่อสารในสังคมไทยยิ่งขาดสติ ไม่รู้จักคิดรู้จักฟังให้มากขึ้น
 นับเป็นความกังวลเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเรื่อง นอกเหนือจากที่เคยแสดงความห่วงใยกรณีที่ผลการวิจัยและผลสำรวจของหลายสถาบัน รวมไปถึงสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า คนไทยอ่านหนังสือน้อยมาก ปีละไม่ถึง 10 บรรทัดด้วยซ้ำไป จนเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เด็กไทยไม่รู้ประวัติศาสตร์ พลอยทำให้ไม่มีความรักและความภูมิใจในความเป็นชาติและวัฒนธรรมของไทย
 เป็นที่น่าสังเกตว่าการแสดงความห่วงใยเรื่องการเขียนและการอ่านของเด็กไทยมักจะมีขึ้นเนื่องในโอกาสวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี จากนั้นไม่นานนัก ความห่วงใยก็จะค่อยๆ เงียบหายกลายเป็นคลื่นกระทบฝั่ง จนขาดความต่อเนื่องที่จะสานต่อการรณรงค์ให้เด็กไทยมีความรู้และรักการอ่านมากขึ้น และมีแต่ตอกย้ำจุดอ่อนของสังคมไทยที่ขาดความใฝ่ใจที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ทั้งในตำราเรียนและนอกตำราเรียน จนทำให้รู้ผิดๆ ถูกๆ หรือรู้ๆ ครึ่งๆ กลางๆ อันอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ง่าย
 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการรู้แค่ครึ่งๆ กลางๆ ว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจรสามารถช่วยรักษาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้ แต่ขาดความเข้าใจที่ถูกต้องในสรรพคุณของสมุนไพรชนิดนี้ ทำให้ไม่รู้ว่าตำรายาแผนโบราณ ห้ามกินสมุนไพรชนิดนี้ติดต่อกันเกิน 7 วัน ไม่เช่นนั้นจะเป็นอันตรายต่ออวัยวะภายใน เช่น ตับ ได้
 เราเชื่อว่าโครงการรณรงค์ระยะยาว ไม่ใช่แค่การรณรงค์ให้เด็กไทยรู้จักการเขียน-อ่านและใช้ภาษาไทยได้ถูกต้องตามหลักภาษาเท่านั้น แต่ต้องทำควบคู่ไปกับการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน และหน่วยงานราชการ ตระหนักว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องร่วมกันเป็นแบบอย่างอันดีให้แก่เด็กไทย ดังที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ข้อคิดว่าจะต้องร่วมกันหาทางให้เกิดความสมดุล ระหว่างการอนุรักษ์ภาษาให้คงไว้ กับวิวัฒนาการของภาษาให้คงความเป็นไทย ไม่ใช่เพียงแค่อนุรักษ์และส่งเสริมเด็กไทยให้สามารถเขียน-พูดได้อย่างถูกต้องเท่านั้น

วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พูดไทยให้เป็นไทย


วัยรุ่นอย่างเราอ่านก็คงพอรู้บ้างและวัยรุ่นก็นำคำศัพท์ ใหม่มาพูดตลอดเวลา เช่น คำว่า กิ๊ก แปลว่า มากกว่าเพื่อนแต่ไม่ใช่แฟน   

     พูดไทยให้เป็นไทย

           ภาษาไทยที่ใช้กันในวัยรุ่นปัจจุบันนี้  เป็นภาษาที่ผิดหรือถูกกันแน่ การที่วัยรุ่นไทยใช้ภาษาเช่นนี้ทำให้ประเทศเจริญขึ้นหรือภาษาไทยกำลังถูกลืมกันแน่
          เมื่อไม่นานมานี้บ้านเราก็มีข่าวเกี่ยวกับภาษาไทยที่ราชบัณฑิตยสถานจะบัญญัติศัพท์ใหม่ลงพจนานุกรม ซึ่งรวมเอาศัพท์วัยรุ่นไว้ด้วย  คำศัพท์บางคำ วัยรุ่นอย่างเราอ่านก็คงพอรู้บ้างและวัยรุ่นก็นำคำศัพท์  ใหม่มาพูดตลอดเวลา เช่น คำว่า กิ๊ก  แปลว่า  มากกว่าเพื่อนแต่ไม่ใช่แฟน     ซะงั้น   แปลว่า  ทำได้ไง        วิ่นวือ แปลว่า วุ่นวายสุด      พกข้าวห่อ   แปลว่า    ไปต่างจังหวัดไกลๆแล้วพาแฟนไปด้วย  เกิร์ป  แปลว่า  โง่มากมาย เด้ง แปลว่า  โดดเด่นกว่าใครๆ   ศัพท์พวกนี้เป็นศัพท์ที่พวกวัยรุ่นใช้กันทางอินเทอร์เน็ตหรือสนทนากันในหมู่วัยรุ่น  
          แม้ในอนาคตภาษาไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดก็ตาม ก็เป็นเรื่องยากที่เราจะห้ามไปให้ใช้ศัพท์วันรุ่นแต่ถ้าทุกคนรู้ว่าอะไรคือความพอดี อะไรคือความเหมาะสมปัญหาต่างๆก็จะไม่เกิดขึ้น
         ทั้งนี้องค์กรที่ทำหน้าที่ ดูแลด้านภาษาก็ควรมีส่วนช่วยสนับสนุนด้วยเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดีเป็นกาบ่งบอกว่าเรามีพัฒนา ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยถ้าสิ่งไหนดีให้คงไว้แต่ถ้าไม่ดีควรตัดไป ไม่ควรสนับสนุน

วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

โคลงสี่สุภาพ



ข้อบังคับของโคลงสี่สุภาพ (สังเกตจากแผนผัง)
. บทหนึ่งมี ๔ บรรทัด
๒. วรรคหน้าของทุกบรรทัด มี ๕ พยางค์ วรรคหลังของบรรทัดที่ ๑ - ๓ มี ๒ พยางค์
บรรทัดที่ ๔ มี ๔ พยางค์ สามารถท่องจำนวนพยางค์ได้ดังนี้

ห้า -สอง (สร้อย ๒ พยางค์ มักลงท้ายด้วย นา แฮ เฮย เพื่อรับคำ ต่อคำ เชื่อมคำ )
ห้า- สอง
ห้า - สอง (สร้อย ๒ พยางค์ มักลงท้ายด้วย นา แฮ เฮย เพื่อรับคำ ต่อคำ เชื่อมคำ )
ห้า - สี่ (หากจะให้เกิดความไพเราะในการอ่านนิยมลงเสียงจัตวา)
๓. มีตำแหน่งสัมผัสตามเส้นโยง
๔. บังคับรูปวรรณยุกต์ เอก ๗ โท ๔ ตามตำแหน่งในแผนผัง


ตัวอย่างคำประพันธ์ที่นิยมท่องเป็นต้นแบบเพื่อง่ายต่อการจดจำแผนผัง
    เสียงลือเสียงเล่าอ้างอันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใครทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหลลืมตื่น ฤๅพี่
สองพี่คิดเองอ้าอย่าได้ถามเผือ


วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การพูดกล่าวคำอวยพรวันเกิด





คำกล่าวอวยพรวันคล้ายวันเกิด
สวัสดีครับ ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ก่อนอื่นกระผมขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติมาร่วมงาน วันคล้ายวันเกิดของเพื่อนกระผม เพื่อนของกระผมคนนี้ชอบพอและสนิทสนมกันมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก ๆ แล้วครับ ท่านเป็นคนที่มีอัธยาศัยไมตรีและมีมนุษย์สัมพันธ์ดีมากคนหนึ่ง ใจคอกว้างขวาง โอบเอื้ออารีย์ เป็นที่ยอมรับของเพื่อน ๆ และคนที่รู้จักมักคุ้นโดยทั่วไป เมื่อมีการจัดงานคล้ายวันเกิดของเพื่อนคนนี้ในแต่ละครั้ง ถ้าไม่ติดธุระจำเป็นจริง ๆ แล้วกระผมจะมาร่วมงานด้วยทุกครั้งเช่นกัน
เพื่อนคนนี้ นอกเหนือจากเป็นคนดี มีอัธยาศัยไมตรีที่ดี เป็นที่น่านับถือของเพื่อน ๆ และคนอื่น ๆ แล้ว ยังเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรแก่บุตรหลานของท่านอีกด้วย
ในโอกาสนี้ กระผมขออวยพรให้เพื่อนรักของกระผมคนนี้ จงมีอายุมั่นขวัญยืน มีความสุขความเจริญ อีกทั้งเจริญก้าวหน้า ทั้งในหน้าที่ราชการและงานส่วนตัวยิ่ง ๆ ขึ้นไป

คำกล่าวตอบรับของเจ้าภาพวันคล้ายวันเกิด
สวัสดีครับ ท่านประธานและแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน กระผมรู้สึกปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านประธานและแขกทุกท่าน ได้ให้เกียรติมาร่วมอวยพรในวันคล้ายวันเกิดของกระผม ในโอกาสนี้ ขอเชิญทุกท่านดื่มและรับประทานอาหารตามสบายโดยไม่ต้องเกรงใจ หากมีข้อขัดข้องผิดพลาดด้วยประการใด ๆ เนื่องจากดูแลและบริการไม่ทั่วถึง กระผมขอน้อมรับความผิดไว้แต่เพียงผู้เดียวและขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย ในโอกาสหน้าจะพยายามปรับปรุง แก้ไข ให้ดีขึ้นกว่าเดิมและดียิ่ง ๆ ขึ้นไป….ขอบคุณมากครับ

วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ทุกข์ของชาวนาในบทกวี

ประวัติผู้แต่ง




สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ศาสตราจารย์ พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันเสาร์ที่ 2เมษายน พ.ศ. 2498 ณพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (พระราชอุปัชฌาย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) เป็นผู้ถวายพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์"
เมื่อวันที่ ธันวาคม พ.ศ. 2520 ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี" นับเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรก ที่ทรงดำรงฐานันดรศักดิ์ที่ สยามบรมราชกุมารี” แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
พระองค์มีพระปรีชาสามารถในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์และดนตรีไทย ซึ่งพระองค์ได้นำมาใช้ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศ จากพระราชกรณียกิจในด้านศิลปวัฒนธรรมนี้ พระองค์จึงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระสมัญญาว่า เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” และ วิศิษฏศิลปิน” นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ เช่น ด้านการศึกษา การพัฒนาสังคม โดยทรงมีโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์หลายหลากโครงการ ซึ่งโครงการในระยะเริ่มต้นนั้น มุ่งเน้นทางด้านการแก้ปัญหาการขาดสารอาหารของเด็กในท้องถิ่นทุรกันดาร และพัฒนามาสู่การให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาบุคคลอย่างสมบูรณ์

      

 ที่มาและความสำคัญ
บทความเรื่อง ทุกข์ของชาวนาในบทกวี มีที่มาจากหนังสือรวมบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง มณีพลอยร้อยแสง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓ ในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๓ รอบ โดยนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ ๔๑
หนังสือรวมบทพระราชนิพนธ์เรื่อง มณีพลอยร้อยแสง แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๑๑ หมวดด้วยกัน คือ กลั่นแสงกรองกานท์เสียงพิณเสียงเลื่อนเสียงเอื้อนเสียงขับเรียงร้อยถ้อยดนตรี,ชวนคิดพิจิตรภาษานานาโวหารคำขานไพรัชสมบัติภูมิปัญญาธาราความคิดนิทิศบรรณามสาราจากใจ และมาลัยปกิณกะ
ในหมวด ชวนคิดพิจิตรภาษา” เป็นพระราชนิพนธ์บทความและบทอภิปรายรวม ๔ เรื่อง คือ ภาษาไทยกับคนไทยการใช้สรรพนามวิจารณ์คำอธิบายเรื่องนามกิตก์ในไวยากรณ์บาลีและทุกข์ของชาวนาในบทกวี ซึ่งเป็นบทวิจารณ์ร้อยกรองที่จะนำมาศึกษาในบทเรียนนี้

ลักษณะคำประพันธ์

ทุกข์ของชาวนาในบทกวี เป็น บทความแสดงความคิดเห็น” ซึ่งเป็นบทครบที่มีจุดมุ่งหมายที่จะแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ความคิดเห็นที่นำเสนอได้มาจากการวิเคราะห์ การใช้วิจารณญาณฯไตร่ตรองของผู้เขียน โดยผ่านการสำรวจปัญหา ที่มาของเรื่อง และข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียด ความคิดเห็นที่เสนออาจเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาตามทัศนะของผู้เขียนหรือการโต้แย้งความคิดเห็นของผู้อื่นที่มีมาก่อน
อย่างไรก็ตาม บทความแสดงความคิดเห็นที่ดีควรเสนอทัศนะใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครคิด หรือเสนอทัศนะที่มีเหตุมีผลเป็นการสร้างสรรค์ ไม่ใช่การบ่อนทำลาย ความน่าเชื่อถือของความคิดเห็นที่นำเสนอนั้นขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ปัญหา การใช้ปัญญาไตร่ตรองโดยปราศจากอคติ และการแสดงถึงเจตนาดีของผู้เขียนที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

จุดมุ่งหมายของผู้แต่ง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงชี้ให้เห็นว่าแม้จิตร ภูมิศักดิ์และหลี่เชินจะมีกลวิธีการนำเสนอบทกวีที่แตกต่างกัน แต่กวีทั้งสองท่านกลับมีแนวความคิดที่คล้ายคลึงกัน คือ มุ่งที่จะกล่าวถึงความทุกข์ยากของชาวนา และ ทำให้เห็นว่าชาวนาในทุกแห่งและทุกสมัยล้วนประสบแต่ความทุกข์ยากไม่แตกต่างกัน

เนื้อเรื่อง 
“ ทุกข์ของชาวนาในบทกวี เมื่อครั้งเป็นนิสิต ข้าพเจ้าได้เคยอ่านผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด หรือวิเคราะห์อะไร เพียงแต่ได้ยินคำเล่าลือว่า เขาเป็นคนที่ค้นคว้าวิชาการได้กว้างขวาง และลึกซึ้งถี่ถ้วน ในสมัยที่เราเรียนหนังสือกัน ได้มีผู้นำบทกวีของจิตรมาใส่ทำนองร้องกัน ฟังติดหู มาจนถึงวันนี้
เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้น่ะมีรส ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว
จากแรงมาเป็นรวง ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากรวงเป็นเม็ดพราว ล้วนทุกข์ยากลำเค็ญเข็ญ
เหงื่อหยดสักกี่หยาด ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น จึงแปรรวงมาเปิบกัน
น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง และน้ำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูทั้งสิ้น ที่สูซดกำซาบฟัน
ดูจากสรรพนามที่ใช้ว่า กู” ในบทกวีนี้ แสดงว่าผู้ที่พูดคือชาวนา ชวนให้คิดว่าเรื่องจริงๆ นั้น ชาวนาจะมีโอกาสไหมที่จะ “ลำเลิก” กับใครๆ ว่า ถ้าไม่มีคนที่คอยเหนื่อยยากตรากตรำอย่างพวกเขา คนอื่นๆ จะเอาอะไรกิน อย่าว่าแต่การลำเลิกทวงบุญคุณเลย ความช่วยเหลือที่สังคม มีต่อคนกลุ่มนี้ ในด้านของปัจจัยในการผลิต การพยุงหรือการประกันราคา และการักษาความยุติธรรมทั้งปวง ก็ยังแทบจะเป็นไปไม่ได้ ทำให้ในหลายๆ ประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ ชาวนาต่างก็จะละทิ้งอาชีพเกษตรกรรม ไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมหรือการบริโภค ซึ่งทำให้ตนมีรายได้สูงกว่า หรือได้เงินเร็วกว่า แน่นอนกว่า มีสวัสดิการดีกว่า และไม่ต้องเสี่ยงมากเท่าการเป็นชาวนา บางคนที่ยังคงอยู่ในภาคเกษตรกรรม ก็มักจะนิยมเปลี่ยนพืชที่ปลูกจากธัญพืช ซึ่งมักจะได้ราคาต่ำ เพราะรัฐบาลก็มีความจำเป็น ที่จะต้องขยับขยายตัวให้อยู่ในสถานะที่ดีขึ้นได้ อาจแย่ลงเสียด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่มีสิทธิ ที่จะอุทธรณ์ฎีกากับใคร
ถึงจะมีคนแบบจิตร ที่พยายามใช้จินตนาการสะท้อนความในใจ ออกมาสะกิดใจ คนอื่นบ้าง แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป
หลายปีมาแล้วข้าพเจ้าอ่านพบบทกวีจีนบทหนึ่ง ผู้แต่งชื่อหลี่เชิน ชาวเมืองอู่ชี มีชีวิตอยู่ ในระหว่างปี ค.ศ. ๗๗๒ ถึง ๘๔๖ สมัยราชวงศ์ถัง ท่านหลี่เชินได้บรรยายความในใจไว้ เป็นบทกวีภาษาจีน ข้าพเจ้าจะพยายามแปล ด้วยภาษาที่ขรุขระไม่เป็นวรรณศิลป์ เหมือนบทกวีของ จิตร ภูมิศักดิ์
หว่านข้าวในฤดูใบไม้ผลิ ข้าวเมล็ดหนึ่ง
จะกลายเป็นหมื่นเมล็ดในฤดูใบไม้ร่วง
รอบข้างไม่มีนาที่ไหนทิ้งว่าง
แต่ชาวนาก็ยังอดตาย
ตอนอาทิตย์เที่ยงวัน ชาวนายังพรวนดิน
เหงื่อหยดบนดินภายใต้ต้นข้าว
ใครจะรู้บ้างว่าในจานใบนั้น
ข้าวแต่ละเม็ดคือความยากแค้นแสนสาหัส
กวีผู้นี้รับราชการมีตำแหน่งเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น อยู่ในชนบท ฉะนั้นเป็นไปได้ ที่เขาจะได้เห็นความเป็นอยู่ของราษฎรชาวไร่ชาวนาในยุคนั้น และเกิดความสะเทือนใจจึงได้บรรยายความรู้สึกออกเป็นบทกวีที่เขาให้ชื่อว่า “ประเพณีดั้งเดิม” บทกวีของหลี่เชิน เรียบๆ
ง่ายๆ แต่ก็แสดงความชัดเจน แม้ว่าในฤดูกาลนั้นภูมิอากาศจะอำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหาร
บริบูรณ์ดี แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นประโยชน์ของผู้ผลิตเท่าที่ควร
เทคนิคในการเขียนของหลี่เชินกับของจิตรต่างกัน คือ หลี่เชินบรรยายภาพที่เห็น เหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม ส่วนจิตรใช้วิธีเสมือนกับ นำชาวนามาบรรยาย เรื่องของตน ให้ผู้อื่นอ่านฟังด้วยตนเอง
เวลานี้สภาพบ้านเมืองก็เปลี่ยนไป ตั้งแต่สมัยหลี่เชินเมื่อพันกว่าปี สมัยจิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว สมัยที่ข้าพเจ้าได้เห็นเอง ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันนัก ฉะนั้นก่อนที่ทุกคน จะหันไปกินอาหารเม็ดเหมือนนักบินอวกาศ เรื่องความทุกข์ของชาวนา ก็คงยังจะเป็นแรงสร้างความ สะเทือนใจให้แก่กวียุคคอมพิวเตอร์สืบต่อไป

 ข้อคิดที่ได้รับ

เราควรรู้คุณค่าของข้าวที่รับประทานกันอยู่ทุกวันว่า กว่าจะได้เมล็ดข้าวมาแต่ละเม็ดล้วนเกิดจากความเหนื่อยยากของชาวนา เพราะฉะนั้นไม่ควรกินทิ้งกินขว้างให้เสียประโยชน์

 คำศัพท์ที่น่าสนใจ
คำศัพท์
ความหมาย
กำซาบ
ซึมเข้าไป
เขียวคาว 
สีเขียวของข้าว ซึ่งน่าจะหอมสดชื่น แต่ในบทกวีกลับมีกลิ่นเหม็นคาวเพราะข้าวนี้เกิดจากหยาดเหงื่อซึ่งแสดงถึงความทุกข์ยากและความขมขื่นของชาวนา
ประกันราคา 
การที่รัฐ  เอกชน หรือองค์กรต่างๆ รับประกันที่จะรับซื้อผลผลิตตามราคาที่ได้กำหนดไว้ในอนาคต  ไม่ว่าราคาในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม
เปิบ หรือ เปิบข้าว 
วิธีการใช้ปลายนิ้วทั้งห้าหยิบข้าวใส่ปากตนเอง
ภาคบริการ 
อาชีพที่ให้บริการผู้อื่น เช่น พนักงานในร้านอาหาร ช่างเสริมสวย
สู
สรรพนามบุรุษที่ 2  เป็นคำโบราณ
อาจิณ
ประจำ


 วิเคราะห์วิจารณ์
คุณค่าด้านภาษา
กลวิธีการแต่ง ทุกข์ของชาวนาในบทกวี ถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างได้ แสดงให้เห็นถึงแนวความคิดที่ชัดเจน ลำดับเรื่องราวเข้าใจง่าย และมีส่วนประกอบของงานเขียนประเภทบทความอย่างครบถ้วน คือ
ส่วนนำ กล่าวถึงบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ได้ยินได้ฟังมาในอดีตมาประกอบในการเขียนบทความ
เนื้อเรื่อง วิจารณ์เกี่ยวกับกลวิธีการนำเสนอบทกวีของ จิตร ภูมิศักดิ์ และของ
หลี่เชินโดยยกเหตุผลต่างๆและแสดงทัศนคติมาประกอบ
ส่วนสรุป สรุปความเพียงสั้นๆ แต่ลึกซึ้ง ด้วยการตอกย้ำเรื่องความทุกข์ยากของชาวนา ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใดก็เกิดปัญหาเช่นนี้เหมือนกัน
บทกวีของหลี่เชิน เป็นบทกวีที่เรียบง่าย แต่แสดงความขัดแย้งอย่างชัดเจน คือ ไม่ว่าจะเป็นในฤดูกาลเพาะปลูก ภูมิอากาศจะเอื้ออำนวยให้พืชพันธ์เจริญงอกงามดี แต่ผลผลิตทั้งหมดก็ไม่ได้ตกเป็นของผู้ผลิตเอง คือชาวนาเท่าที่ควร ซึ่งหลี่เชินได้บรรยายภาพที่เห็นเหมือน จิตรกรวาดภาพให้คนชม ส่วนจิตร ภูมิศักดิ์ ใช้กลวิธีการบรรยายเสมือนชาวนาเป็นผู้บรรยายเรื่องราวให้ผู้อ่านได้ฟัง
คุณค่าด้านสังคม
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเริ่มต้นด้วยการยกบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งแต่งด้วยกาพย์ยานี ๑๑ จำนวน ๕ บท มีเนื้อหาเกี่ยวกับความยากลำบากของชาวนา พระองค์ทรงเห็นด้วยกับบทกวีนี้และยังทรงกล่าวอีกว่าเนื้อหาบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ สอดคล้องกับบกวีของหลี่เชิน กวีชาวจีนที่แต่งไว้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง แสดงให้เห็นถึงสภาพชีวิตของชาวนาไม่ว่าที่แห่งใดในโลก จะเป็นสมัยใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีความยากลำบากลำเค็ญเช่นเดียวกันหมด
ในบทความนี้มีผลทำให้สังคมและหน่วยงานต่างๆตระหนักถึงความสำคัญของชาวนามากยิ่งขึ้น และเล็งเห็นปัญหาต่างๆที่จะนำไปแก้ได้ในท้ายที่สุด
พระราชนิพนธ์ เรื่องทุกข์ของชาวนาในบทกวี แสดงให้เห็นถึงความเข้าพระทัยและเอาพระทัยใส่ในปัญหาการดำรงชีวิตของชาวนาไทย ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงพระเมตตาอันเปี่ยมล้นของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวนาผู้มีอาชีพปลูกข้าวเป็นหลัก เริ่มชีวิตและการทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ทำงานแบบหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ตลอดทั้งปี ดังนั้นในฐานะผู้บริโภค จึงควรสำนึกในคุณค่าและความหมายของชาวนาที่ปลูกข้าวอันเป็นอาหารหลักเพื่อการมีชีวิตอยู่รอดของคนไทย

ความรู้เพิ่มเติม
ประวัติ จิตร ภูมิศักดิ์
จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักวิชาการคนสำคัญคนหนึ่งของไทยที่มีผลงานทางด้านวิชาการที่แปลกใหม่และลึกซึ้ง รวมทั้งยังมีแนวคิดต่อต้านระบบเผด็จการและการใช้อำนาจกดขี่ของ ชนชั้นสูง นอกจากนี้ยังมีความเชี่ยวชาญในด้านภาษาศาสตร์ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาบาลี ฯลฯ งานนิพนธ์ที่โดดเด่น ได้แก่ ภาษาและนิรุกติศาสตร์ โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ใน ประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นต้น
ประวัติข้าวไทย
พันธุ์ข้าวที่มนุษย์เพาะปลูกในปัจจุบันพัฒนามาจากข้าวป่า ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นของทวีป Gondwanaland มนุษย์ค้นพบวิธีปลูกข้าวแบบทำไร่เลื่อนลอย ต่อมาจึงค้นพบการทำนาหว่าน ภูมิปัญญาด้านการปลูกข้าวพัฒนาสู่การปักดำ พบหลักฐานในวัฒนธรรมบ้านเชียงประเทศไทย เมื่อไม่ต่ำกว่า 5,000 ปีมาแล้ว ในประเทศไทย เมล็ดข้าวที่เก่าแก่ที่สุดที่พบมีลักษณะคล้ายข้าวปลูกของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุราว 3,000 – 3,500 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ได้แก่ รอยแกลบข้าว ซึ่งเป็นส่วนผสมของดินที่ใช้ปั้นภาชนะดินเผาที่โนนนกทา อำเภอภูเวียง จังหวัดของแก่น เป็นหลักฐานที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเก่าแก่ที่สุด




น.ส.สุมิตตา   จำปาศักดิ์  ม.4/6 เลขที่ 30