วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เด็กไทยไม่รู้หลักภาษาไทย


เด็กไทยไม่รู้หลักภาษาไทย

บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตและครูภาษาไทย ต่างแสดงความห่วงใยที่เด็กไทยรุ่นใหม่ต่างมีปัญหาในด้านการอ่าน และการเขียนภาษาแม่ของตัวเอง ทำให้ไม่สามารถสะกดและออกเสียงภาษาไทยได้อย่างถูกวิธี ไม่ต้องพูดไกลไปถึงเรื่องการขาดการอบรมสั่งสอนให้รู้จักคิด-พูด-ฟังอย่างแตกฉานและอย่างมีสติ จึงมีการใช้คำศัพท์สแลง

คำผวน คำแปลกๆ ที่ไม่ถูกกาลเทศะ คำหยาบคาย หรือการนำภาษาต่างประเทศมาผสมกับภาษาไทยกลายเป็นคำแปลกที่ไม่มีความหมาย และผิดหลักเกณฑ์ แต่กลับคิดว่าเป็นคำที่ถูกต้อง ซึ่งทำให้การใช้ภาษาไทยมีแต่วิบัติและไม่ถูกต้องมากขึ้น ทำให้การสื่อสารในสังคมไทยยิ่งขาดสติ ไม่รู้จักคิดรู้จักฟังให้มากขึ้น
 นับเป็นความกังวลเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเรื่อง นอกเหนือจากที่เคยแสดงความห่วงใยกรณีที่ผลการวิจัยและผลสำรวจของหลายสถาบัน รวมไปถึงสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า คนไทยอ่านหนังสือน้อยมาก ปีละไม่ถึง 10 บรรทัดด้วยซ้ำไป จนเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เด็กไทยไม่รู้ประวัติศาสตร์ พลอยทำให้ไม่มีความรักและความภูมิใจในความเป็นชาติและวัฒนธรรมของไทย
 เป็นที่น่าสังเกตว่าการแสดงความห่วงใยเรื่องการเขียนและการอ่านของเด็กไทยมักจะมีขึ้นเนื่องในโอกาสวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี จากนั้นไม่นานนัก ความห่วงใยก็จะค่อยๆ เงียบหายกลายเป็นคลื่นกระทบฝั่ง จนขาดความต่อเนื่องที่จะสานต่อการรณรงค์ให้เด็กไทยมีความรู้และรักการอ่านมากขึ้น และมีแต่ตอกย้ำจุดอ่อนของสังคมไทยที่ขาดความใฝ่ใจที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ทั้งในตำราเรียนและนอกตำราเรียน จนทำให้รู้ผิดๆ ถูกๆ หรือรู้ๆ ครึ่งๆ กลางๆ อันอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ง่าย
 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการรู้แค่ครึ่งๆ กลางๆ ว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจรสามารถช่วยรักษาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้ แต่ขาดความเข้าใจที่ถูกต้องในสรรพคุณของสมุนไพรชนิดนี้ ทำให้ไม่รู้ว่าตำรายาแผนโบราณ ห้ามกินสมุนไพรชนิดนี้ติดต่อกันเกิน 7 วัน ไม่เช่นนั้นจะเป็นอันตรายต่ออวัยวะภายใน เช่น ตับ ได้
 เราเชื่อว่าโครงการรณรงค์ระยะยาว ไม่ใช่แค่การรณรงค์ให้เด็กไทยรู้จักการเขียน-อ่านและใช้ภาษาไทยได้ถูกต้องตามหลักภาษาเท่านั้น แต่ต้องทำควบคู่ไปกับการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน และหน่วยงานราชการ ตระหนักว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องร่วมกันเป็นแบบอย่างอันดีให้แก่เด็กไทย ดังที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ข้อคิดว่าจะต้องร่วมกันหาทางให้เกิดความสมดุล ระหว่างการอนุรักษ์ภาษาให้คงไว้ กับวิวัฒนาการของภาษาให้คงความเป็นไทย ไม่ใช่เพียงแค่อนุรักษ์และส่งเสริมเด็กไทยให้สามารถเขียน-พูดได้อย่างถูกต้องเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น